วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การตกแต่งปลายจมูกด้วยวิธี open technique

การตกแต่งปลายจมูกด้วยวิธี open technique

บทความนี้จะกล่าวถึงการผ่าตัดตกแต่งจมูก โดยเน้นทีส่วนของปลายจมูกค่ะ


ก่อนอื่นขอเกริ่นนำถึงตำแหน่งต่างๆของจมูกก่อนนะคะ
   1.   nasofrontal angle คือมุมระหว่างสันจมูกและหน้าผาก ในคนเอเชียนั้น มุมนี้ไม่ควรกว้างเกินไปนัก ควรจะเห็นเป็น slope ไล่ลงมาจากหน้าผาก จึงจะดูกลมกลืน สมกับใบหน้าเอเชีย ในฝรั่งนั้น มุมนี้จะกว้างกว่า คือสันจมูกแทบจะเป็นเส้นตรงลากลงมาจากหน้าผาก ถ้าเสริมจมูกออกมาในลักษณะนั้น จะเสียเอกลักษณ์ของคนเอเชียไป
   2.  ส่วน supratip break เป็นจุดหักเหก่อนที่จะถึงปลายจมูก จุดนี้จะขับเน้นปลายจมูกให้ดูเด่นขึ้น
   3.  ส่วน tip-defining point เป็นจุดสูงสุดของปลายจมูก ที่ควรเป็นจุดที่โด่งที่สุดของจมูก จึงจะดูสวยงาม และจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่จะทำให้ปลายจมูกดูเด่นชัด ดูเรียว ในคนเอเชียทั่วไป จุดนี้มักจะไม่ชัดเจน ทำให้ปลายจมูกดูกลม มน ใหญ่
  4. ส่วนของ columellar-labial angle คือมุมระหว่างริมฝีปากบน และขาจมูก ควรอยู่ที่ 90-100 องศา ถ้ามุมนี้กว้างเกินไปจะดูปลายจมูกเชิดเป็นจมูกหมู ส่วนถ้ามุมนี้แคบเกินไปจะดูปลายจมูกงุ้มเป็นแม่มด ในผู้ชายมักจะชอบให้มุมนี้แคบกว่าผู้หญิงเล็กน้อย




     



จมูกที่สวยงามนั้นจะต้องวางตัวรับกับสัดส่วนของใบหน้า โดยแบ่งเป็นสัดส่วนดังภาพ
เพิ่มคำอธิบายภาพ
ในส่วนของปลายจมูกที่สวยงาม เมื่อมองจากด้านหน้าและด้านข้าง จะเป็นสัดส่วนดังภาพ คือจะไม่เห็นรูจมูกมากเกินไป หรือน้อยเกินไป และเห็นจุด tip-defining point ชัดเจน





ลักษณะทั่วไปของจมูกคนเอเชีย จะมีลักษณะ สันจมูกต่ำ จุดเด่นปลายจมูกไม่ชัดเจน (tip-defining point ไม่ชัด) ปลายจมูกใหญ่ ปลายจมูกมีไขมันสะสมมาก ผิวหนังหนา ทำให้ดูปลายจมูกกลมมนเป็นรูปชมพู่ ปีกจมูกบาน และจมูกสั้นเชิด การเสริมจมูกด้วยซิลิโคนนั้น จะแก้ไขได้เฉพาะส่วนของสันจมูก จะทำให้สันจมูกดูโด่งขึ้น แต่ไม่สามารถแก้ไขในส่วนของปลายจมูกได้ และการที่เราพยายามจะเสริมซิลิโคนเพื่อดันเนื้อปลายจมูกให้โด่งหรือยาวขึ้นนั้น ยังเสี่ยงต่อการใช้ซิลิโคนกดเนื้อปลายจมูก ซึ่งอาจจะทะลุในเวลาต่อมา



ภาพซิลิโคนทะลุปลายจมูกเนื่องจากการเสริมซิลิโคนยาวมากดปลายจมูก



ดังนั้น ลักษณะปลายจมูกเช่นนี้ต้องแก้ไขด้วยการตกแต่งกระดูกอ่อนปลายจมูก และสร้างโครงให้ปลายจมูกเด่นชัดขึ้น ให้ได้รูปทรงที่ต้องการ 

คร่าวๆจะแบ่งได้เป็น 1.การเย็บกระดูกอ่อนปลายจมูก (suture technique)  และ 2.การเสริมปลายจมูกด้วยกระดูกอ่อนของตัวเราเองที่นำมาจากตำแหน่งอื่น (tip graft) ส่วนในคนที่ไขมันปลายจมูกมาก เราสามารถเอาไขมันออกได้เล็กน้อย เพื่อให้ปลายจมูกดูเรียวขึ้น

ภาพตัวอย่างการเย็บกระดูกอ่อนปลายจมูกเพื่อปรับทรงปลายจมูก



นอกจากการเย็บกระดูกอ่อนปลายจมูกแล้ว ยังต้องเสริมโครงปลายจมูกให้ดูเด่นขึ้นด้วยการใช้กระดูกอ่อนของตัวเราเองมาเย็บเสริมที่ปลายจมูก โดยกระดูกอ่อนของตัวเราเองนี้สามารถนำมาได้จาก 1.ใบหู    2.กระดูกอ่อนseptum ของจมูกเอง  3.กระดูกอ่อนซี่โครง








การวางกระดูกอ่อนที่ปลายจมูกนั้นทำให้เราเพิ่มจุดเด่นที่ปลายจมูกได้ในตำแหน่งต่างๆที่เราต้องการ ส่วนกรณีที่จมูกสั้นเราก็สามารถใช้กระดูกอ่อนต่อปลายจมูกให้ยาวลงมาได้ด้วย

การใช้กระดูกอ่อนของตัวเราเองตกแต่งปลายจมูกนั้น สามารถทำได้โดยฉีดยาชาเฉพาะที่
โดยมาก หมอมักจะนำกระดูกอ่อนมาจากส่วนของใบหู ซึ่งแผลจะซ่อนอยู่ที่ซอกหลังใบหู กระดูกอ่อนส่วนที่นำมานั้น เป็นส่วนด้านในของใบหู ซึ่งเมื่อนำออกมาจะไม่ทำให้รูปทรงของใบหูเปลี่ยนแปลงไป

กรณีที่เราต้องการเสริมซิลิโคนเพื่อเพิ่มความสูงของสันจมูกด้วย ก็สามารถเสริมซิลิโคนที่สันจมูกและวางกระดูกอ่อนที่ปลายจมูกดังภาพ
โดยที่เราจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ซิลิโคนกดเนื้อปลายจมูก เนื่องจากเนื้อปลายจมูกเป็นส่วนที่เสี่ยงต่อการถูกกดทับและทะลุ





นี่เป็นภาพตัวอย่างเคสที่เสริมจมูกร่วมกับแก้ไขปลายจมูกให้เรียวโด่ง โดย open technique และต่อกระดูกอ่อนที่ปลายจมูกที่หมอทำค่ะ จะเห็นว่าก่อนทำ(ภาพซ้าย)เคสนี้มีปลายจมูกกลมมน สันจมูกแบน และจมูกสั้น ภาพขวาหลังทำได้ 1 เดือน จะเห็นว่ามีจุดเด่นที่ปลายจมูกชัดเจนขึ้น และปลายจมูกโด่งเรียวมากขึ้น



เคสนี้เป็นการแก้ไขทรงจมูก เคสนี้เดิมมี hump ที่สันจมูก และปลายจมูกงุ้มลง ภาพขวาหลังแก้ไขโดย open technique เข้าไปเหลา hump ออก เย็บกระดูกอ่อนปลายจมูกและเสริมปลายจมูกด้วยกระดูกอ่อนใบหู จะเห็นได้ว่า ปลายจมูกยกขึ้น สันจมูกเรียบขึ้น



เคสนี้ทำปลายจมูกให้เล็กลงโดย open technique เอาไขมันส่วนเกินที่ปลายจมูกออก ตกแต่งกระดูกอ่อนปลายจมูก และใช้กระดูกอ่อนจากใบหูเสริมปลายจมูก



เคสนี้เป็นการแก้ไขจมูกที่เคยมีปัญหาซิลิโคนกดปลายจมูกจนเนื้อปลายจมูกแดง บาง และใกล้จะทะลุ ภาพซ้ายเป็นภาพหลังถอดซิลิโคนที่มีปัญหาออก 1 ปี จะเห็นว่าปลายจมูกสั้นกุด ปลายทู่ เนื่องจากกระดูกอ่อนปลายจมูกเสียทรงจากซิลิโคนเดิม และหนังปลายจมูกบางมากจากการกดทับของซิลิโคนเป็นเวลานาน ภาพขวาเป็นภาพหลังแก้ไขโดย open technique แต่งกระดูกอ่อนปลายจมูกและใช้กระดูกอ่อนจากใบหูต่อที่ปลายจมูก จะเห็นว่าจุดเด่นที่ปลายจมูกชัดเจนขึ้น และปลายจมูกยาวโด่งขึ้น


คำถามที่หลายคนสงสัยคือ กระดูกอ่อนที่เรานำมาเสริมปลายจมูกนั้นจะสลายไปหรือไม่ 

การที่เราวางกระดูกอ่อนจากใบหูไว้ที่ปลายจมูกนั้น กระดูกอ่อนชิ้นนั้นจะเป็น graft นั่นคือต้องการเลือดจากปลายจมูกมาเลี้ยง เพื่อจะหล่อหลอมเป็นส่วนหนึ่งกับปลายจมูกนั่นเอง ดังนั้นเลือดที่มาเลี้ยงปลายจมูกจึงสำคัญมาก ถ้าเลือดมาเลี้ยงส่วนนี้น้อย อาจมีปัญหากระดูกอ่อนไม่ได้รับเลือดมาเลี้ยงเพียงพอ และสลายไปได้


สาเหตุที่ทำให้กระดูกอ่อนที่เราเสริมปลายจมูกมีเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ

 1.ในคนที่เคยผ่าตัดจมูกหลายครั้ง มีปัญหาซิลิโคนกดทับปลายจมูก เนื้อปลายจมูกบาง มีแผลเป็นจำนวนมากที่ปลายจมูก เคสเหล่านี้จะมีเยื่อพังผืดที่ปลายจมูกมาก เลือดมาเลี้ยงเนื้อปลายจมูกไม่ค่อยดี ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการผ่าตัดเคสเหล่านี้
2.คนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ การสูบบุหรี่นานๆส่งผลให้หลอดเลือดเล็กๆเสื่อมสภาพ จะมีปัญหาเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอได้
3.คนที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้แผลหายช้าหรือหลอดเลือดเล็กๆเสื่อมสภาพ เช่นเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี เป็นต้น

หมอขอจบบทความนี้ไว้เท่านี้ ใครมีปัญหาอยากซักถามหมอเพิ่มเติม สามารถเข้าไปพูดคุย และอ่านบทความอื่นๆเกี่ยวกับศัลยกรรมตกแต่งได้ที่  www.facebook.com/asayaplastics

                                                พ.ญ. อาศยา สืบสุข  วุฒิบัตร ศัลยศาสตร์ตกแต่ง


วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556

การทำปากกระจับ

รูปทรงริมฝีปากที่สวยงามนั้น ริมฝีปากบนจะบางกว่าริมฝีปากล่าง ในอัตราส่วนประมาณ 1:3 ค่ะ
ริมฝีปากบนที่มีลักษณะเป็นกระจับ จะเพิ่มความน่ารักให้ใบหน้าได้มาก
ปัจจุบันมีความนิยมทำริมฝีปากให้เป็นรูปกระจับมากขึ้น
วิธีการทำก็ไม่ยากเลยค่ะ เพียงแค่ตัดส่วนด้านในของริมฝีปากออกให้ได้รูปทรงตามต้องการ
โดยเทคนิคของหมอ จะบล๊อคยาชาบริเวณข้างแก้มสองข้าง (infraorbital nerve block) โดยจะไม่ฉีดยาชาเข้าไปโดยตรงที่ริมฝีปาก เพราะจะทำให้ริมฝีปากบวม กะยาก ข้อดีของการบล๊อคยาชาข้างแก้มคือ ทำให้ริมฝีปากบนชา โดยไม่บวม หมอจะสามารถตัดส่วนในของริมฝีปากได้อย่างแม่นยำ ไม่เบี้ยว ค่ะ

ขอเชิญดูภาพรีวิวเพิ่มเติมที่เพจ www.facebook.com/asayaplastics
ปรึกษาแพทย์โดยตรงไลน์ asaya_s

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

การทำปลายจมูกให้เรียวโด่ง โดยใช้กระดูกอ่อนจากใบหูมาต่อที่ปลายจมูก



การผ่าตัดตกแต่งจมูกให้สวยนั้น ไม่ใช่แค่การเสริมซิลิโคนอย่างเดียว แบบที่นิยมกันเมื่อศตวรรษก่อน เพราะปัจจุบันเรารู้้แล้วว่า การที่ทรงจมูกจะสวยได้รูปนั้น ต้องสวยตั้งแต่ดั้ง จรดปลายจมูก
คนไทยส่วนมาก มีปลายจมูกใหญ่ กลม ลักษณะคล้ายรูปชมพู่ ปีกจมูกกว้าง นั่นเกิดจากกระดูกอ่อนปลายจมูกของคนไทย มีขนาดเล็ก แบะกางออกจากกัน และเนื้อที่ปลายจมูกหนา
ยิ่งคนที่เคยเสริมจมูกด้วยซิลิโคนมาก่อนแล้ว (ภาพบน) ปลายซิลิโคนมักจะจมลงเรื่อยๆ และกดปลายจมูกให้ยิ่งทู่ ดูไม่เป็นธรรมชาติ
การแก้ไขสามารถทำได้ โดยการผ่าตัดเข้าไปเย็บกระดูกอ่อนปลายจมูก ให้ชิดกันมากขึ้น และเล็มเนื้อส่วนเกินออกบ้าง จากนั้นนำเอากระดูกอ่อนที่ใบหู มาเสริมบริเวณปลายจมูกให้โด่งขึ้น จะได้ปลายจมูกที่เรียว โด่ง สวยขึ้นค่ะ (ภาพล่าง หลังผ่าตัด สองสัปดาห์)

สนใจดูภาพรีวิวเพิ่มเติม เชิญที่เพจ  www.facebook.com/asayaplastics

ปรึกษาแพทย์โดยตรงติดต่อไลน์ asaya_s

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

การแก้ไขจมูก (revision rhinoplasty) มีภาพตัวอย่างเคส


การแก้ไขจมูกที่เคยซิลิโคนทะลุ ด้วยการใช้กระดูกอ่อนหลังหู


การเสริมจมูกด้วยซิลิโคนแท่ง ที่นิยมทำกันในประเทศไทยนั้น อาจทำให้เกิดปัญหา แท่งซิลิโคนดันปลายจมูก ทำให้ผิวหนังปลายจมูกบาง แดง เกิดตุ่มน้ำ และในที่สุดถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะทะลุได้

เมื่อซิลิโคนทะลุออกมาแล้ว ควรรีบเอาซิลิโคนออก กินยาปฏิชีวนะ และรอให้แผลหาย ซึ่งใช้เวลา 3-6 เดือน ก่อนที่จะสามารถทำการแก้ไขในลำดับต่อไป

ผลที่ตามมาจากซิลิโคนทะลุนั้น อาจทำให้เยื่อพังผืดปลายจมูกหดตัว ส่งผลให้ปลายจมูกสั้น และเชิดขึ้น ร่วมกับหนังปลายจมูกที่บางและมีแผลเป็นอยู่ ยิ่งทำให้ดูแย่ลงไปอีก

แต่การแก้ไขก็ยังสามารถทำได้ค่ะ โดยการเอากระดูกอ่อนที่ใบหูมาแก้ไขโครงสร้างของปลายจมูก มาต่อให้ปลายจมูกยาวขึ้นได้ โดยที่ใบหูจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไป และแผลจะซ่อนอยู่หลังใบหู

แต่อย่างไรก็ตาม เราควรจะป้องกันไม่ให้ซิลิโคนทะลุมาที่ปลายจมูก โดยถ้าคุณที่เคยเสริมซิลิโคนจมูกมาแล้ว มีอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ เจ็บปลายจมูก ปลายจมูกบางมาก คลำปลายซิลิโคนชัดเจน ปลายจมูกแดง หรือมีตุ่มคล้ายสิวเกิดขึ้นที่ปลายจมูก ให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อแพทย์จะทำการแก้ไขได้ทันก่อนที่ซิลิโคนจะทะลุออกมาค่ะ

ปัจจุบัน เทรนการเสริมจมูกเริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยนิยมเสริมซิลิโคน จะเริ่มหันมานิยมการใช้เนื้อเยื่อตัวเอง เพราะจะไม่มีปัญหาทะลุ การใช้เนื้อเยื่อตัวเองนั้น ทีนิยมก็เช่น การใช้กระดูกอ่อนหลังใบหูมาเสริมปลายจมูก ให้เชิด ให้เป็นหยดน้ำ ซึ่งลำพังการใช้ซิลิโคนจะทำไม่ได้ หรือถ้าฝืนใช้ซิลิโคน ก็จะเกิดปัญหาทะลุดังกล่าวค่ะ


วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

scrotal reconstruction (การสร้างถุงอัณฑะใหม่)



ผู้ป่วยติดเชื้อที่ถุงอัณฑะและบริเวณใกล้เคียง (Fournier gangrene) ได้รับการตัดเนื้อตายออก ตัดถุงอัณฑะออก และเอาอัณฑะ ไปฝังเก็บรักษาไว้ใต้เนื้อเยื่อขาหนีบ 

ภาพขวา หลังจากผ่าตัดสร้างถุงอัณฑะใหม่ โดยใช้ inner thigh flap

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การปิดแผลขนาดใหญ่



ในภาพ ผู้ป่วยทำงานโรงงาน แขนเข้าเครื่องจักร โดนกระชากเนื้อหลุดเป็นบริเวณกว้าง โดยที่หลอดเลือดด้านหนึ่งยังคงเหลืออยู่ ทำให้ปลายมือยังมีเลือดมาเลี้ยง ส่วนเส้นเอ็นฉีกขาดอย่างมาก

ภาพล่าง หลังจากผ่าตัดปิดแผลด้วย free TRAM flap (การตัดเอากล้ามเนื้อ และผิวหนังที่หน้าท้อง พร้อมหลอดเลือด ยกขึ้นมาต่อกับหลอดเลือดบริเวณแขน เพื่อปิดแผลขนาดใหญ่)


การปิดแผล ทำได้หลายวิธี ขึ้นกับขนาดและลักษณะของแผล แผลที่สะอาด อาจปิดได้ทันที ส่วนแผลที่สกปรก อาจต้องล้างแผลจนแน่ใจว่าไม่ีมีการติดเชื้อ จึงปิดแผล

วิธีการปิดแผล
1. เย็บปิด (primary closure) ในกรณีแผลสะอาด ขนาดเล็ก ที่สามารถเย็บถึงกันได้ / การเย็บปิดภายหลัง (delayed primary closure) ในกรณีแผลค่อนข้างสกปรก ต้องการล้างแผลให้สะอาดก่อน
2. การปล่อยให้แผลหายเอง ในกรณีแผลแคบๆ ไม่ลึก แผลอาจหายได้เอง
3. การเอาหนังจากส่วนอื่นมาแปะ (skin graft) ในกรณีแผลกว้าง หรือลึก เกินกว่าที่จะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ก็ควรเอาหนังจากส่วนอื่นมาแปะ
การที่จะเอาหนังมาแปะได้ บริเวณแผลจะต้อง มีเลือดมาเลี้ยงพอ ไม่มีการติดเชื้อ ไม่มีมะเร็งซ่อนอยู่ ไม่เป็นบริเวณที่กระดูกหรือเส้นเอ็นโผล่ หนังที่นำมาแปะ จึงจะสามารถติดได้ ถ้าแผลใดที่มีข้อห้ามเหล่านี้ จะไม่สามารถเอาหนังมาแปะ แต่จะต้องย้ายเนื้อมาปิดแทน (flap)
4. การย้ายเนื้อจากบริเวณข้างเคียง (local flap) ในกรณีที่ตำแหน่งแผล ต้องการความสวยงามกลมกลืน หรือแผลที่ไม่สามารถเอาหนังมาแปะได้
5. การย้ายเนื้อจากบริเวณรอบข้าง (regional flap)
6. การย้ายเนื้อจากบริเวณห่างไกล (distant flap)
7. การย้ายเนื้อโดยการตัดขั้วหลอดเลือดมาต่อกับหลอดเลือดบริเวณแผล (free flap)