วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

การผ่าตัดเสริมเต้านม (มีภาพตัวอย่างเคสก่อนและหลังผ่าตัด)

ปัญหาเต้านมเล็ก ไม่ได้รูปร่างที่สวยงาม ทำให้ผู้หญิงขาดความมั่นใจ ปัจจุบันจึงมีคนสนใจการทำศัลยกรรมตกแต่งเสริมเต้านมกันมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเสริมเต้านมได้
ใครบ้างที่ไม่ควรผ่าตัดเสริมเต้านม ...
- ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมอยู่ หรือมีก้อนเนื้อน่าสงสัย
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และ
- ผู้ที่กำลังมีการอักเสบติดเชื้อบริเวรเต้านม
ควรรอให้ภาวะเหล่านั้นหายดีเสียก่อน
ในผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปี ควรตรวจ mammogram เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมก่อนผ่าตัดเสริมเต้านม
ถ้าท่านมาปรึกษาแพทย์ แพทย์จะตรวจคลำเต้านมเพื่อหาก้อนเนื้อ คลำรักแร้เพื่อหาต่อมน้ำเหลืองผิดปรกติก่อน ถ้าไม่มี ก็เสริมเต้านมได้ค่ะ

การเลือกซิลิโคน
ซิลิโคนแบ่งเป็นสองแบบใหญ่ๆ ได้แก่ แบบ ซิลิโคนเจล และแบบ ถุงน้ำเกลือ ปัจจุบัน แบบซิลิโคนเจลเป็นที่นิยมมากกว่า เพื่อให้สัมผัสที่เป็นธรรมชาติ คล้ายเต้านมจริงมากกว่า และไม่ค่อยมีปัญหารั่วซึมหรือยุบตัว ส่วนขนาดที่เหมาะสมนั้น แล้วแต่ความพอใจของเจ้าตัวค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องเหมาะสมกับขนาดตัว ขนาดความกว้างช่วงอก และบริมาณเนื้อเดิมที่จะรอบรับถุงซิลิโคนด้วยค่ะ ที่นิยมใส่กันมักจะอยู่ที่ประมาณ 225 cc. - 300 cc. (แนะนำให้ลองเอาซิลิโคนยัดใส่ในเสื้อยกทรง แล้วส่องกระจก ดูว่าต้องการขนาดไหน)
ถุงซิลิโคนเจลนั้น มีแบบ ผิวเรียบ กับผิวขรุขระ เชื่อกันว่า แบบผิวขรุขระจะช่วยลดปัญหาเนื้อเยื่อพังผืดหดรัดได้ดีกว่า ทำให้ดูเป็นธรรมชาติกว่าในระยะยาว
ส่วนเรื่องรูปทรงของซิลิโคนนั้น มีแบบทรงกลม กับแบบทรงหยดน้ำ ส่วนมากจะใช้ทรงกลมค่ะ ส่วนทรงหยดน้ำใช้ในกรณีต้องการปรับรูปร่างของเต้านม (ทรงหยดน้ำนั้น ถ้าเกิดเบี้ยวจะน่าเกลียดไปเลยล่ะ)

ตำแหน่งการลงแผล
สามารถลงได้ 4 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางรักแร้, ทางฐานเต้านม, ขอบปานนม, และทางสะดือ (โดยใช้การส่องกล้องผ่าตัด) การลงแผลแต่ละตำแหน่ง นอกจากจะขึ้นกับความชำนาญของแพทย์ผ่าตัดท่านนั้นๆ ยังมีข้อดีข้อเสียเล็กๆน้อยๆที่แตกต่างกัน เช่น
การลงแผลที่รักแร้ จะไม่เห็นแผลที่เต้านม (แต่ก็จะมีแผลที่รักแร้แทน) ,
การลงแผลที่ฐานเต้านม จะมีแผลสั้นๆที่ฐานเต้านม (ยาวประมาณ 4 ซม.) แต่มีข้อดีคือ ขณะผ่าตัดสามารถห้ามเลือดได้ดีกว่า (เชื่อว่าการห้ามเลือดที่ดีช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเยื่อพังผืดหดรัดซิลิโคน) จัดวางซิลิโคนง่ายกว่า ทำให้ได้รูปร่างเต้านมที่สวยงามได้ง่ายกว่า ,  
การลงแผลที่ขอบล่างของปานนม จะมองไม่ค่อยเห็นแผล สามารถจัดตำแหน่งซิลิโคนได้ดี ช่วยแก้ไขกรณีเต้านมหย่อนยานเล็กน้อยได้ด้วย และในคนที่รูปร่างเต้านมผิดปรกติแต่กำเนิดบางชนิดก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการลงแผลที่ตำแหน่งนี้ แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน ได้แก่ การลงแผลตำแหน่งนี้อาจทำให้หัวนมชาได้ และเนื่องจากต้องตัดผ่านท่อน้ำนม อาจทำให้มีการติดเชื้อ Staph. epidimidis ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณท่อน้ำนม และการลงแผลบริเวณนี้ใช้ได้เฉพาะในคนที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของปานนม มากกว่า 4 ซม.
การลงแผลที่สะดือ แล้วใช้การผ่าตัดส่องกล้องช่วย ต้องใช้การใส่ถุงน้ำเกลือเท่านั้น (ใส่ถุงน้ำเกลือแฟบๆเข้าไปก่อน แล้วค่อยเติมน้ำเกลือ)

ซิลิโคนจะวางตัวในชั้นไหน ... สามารถวางซิลิโคนได้ทั้งในชั้นใต้เนื้อเยื่อเต้านม และในชั้นใต้กล้ามเนื้อหน้าอก แพทย์จะเป็นผู้พิจารณา โดยพิจารณาจากความหนาของเนื้อที่หน้าอกของคุณ หน้าเนื้อหน้าอกหนาพอ จะสามารถใส่ซิลิโคนในชั้นใต้เนื้อเยื่อเต้านมได้ แต่ถ้าเนื้อหน้าอกน้อย(เช่นผู้ชาย) จะต้องใส่ซิลิโคนในชั้นใต้กล้ามเนื้อหน้าอก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ซิลิโคนจะไม่รบกวนการให้นมบุตรแต่อย่างใด

การผ่าตัดเสริมเต้านม จะต้องดมยาสลบ โดยใส่ท่อช่วยหายใจทางปาก (โดยวิสัญญีแพทย์) จึงต้องมีการตรวจเลือด เอ็กซเรย์ปอด เพื่อความปลอดภัยในการดมยาสลบ ใครมีโรคประจำตัวอะไร แพ้ยาอะไรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ รวมถึงยาและวิตามินที่กินประจำด้วยนะคะ ยาบางชนิดเช่น aspirin vitamin E อาจทำให้เลือดหยุดยาก ต้องหยุดยาก่อนรับการผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์

การดูแลหลังผ่าตัด โดยทั่วไปจะสามารถกลับบ้านได้ 1-2 วันหลังผ่าตัด ให้กินยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั้ง แพทย์จะพันผ้ารัดเต้านมไว้ให้ในระยะแรก หลังจากเอาผ้าพันออกแล้ว สามารถใส่ยกทรงแบบไม่มีโครงได้
โดยทั่วไปจะสามารถนวดเต้านมด้วยตนเองได้หลัง 1 สัปดาห์ไปแล้ว (เริ่มหายเจ็บ) ให้นวดเต้านมเลื่อนซิลิโคนไปในทิศต่างๆ เพื่อป้องกันการเกิดเยื่อพังผืดหดรัดรอบซิลิโคน (โดยเฉพาะผู้ที่ใส่ซิลิโคนแบบผิวเรียบ) การนวดเต้านมควรทำทุกวันนะคะ
หลังผ่าตัดบางคนอาจชาๆบริเวณเต้านมและหัวนม แต่ส่วนมากความรู้สึกจะกลับมาเป็นปรกติหลังจาก 3-6 เดือนค่ะ

ปัญหาที่อาจเกิดตามมา เนื่องจากซิลิโคนเป็นสิ่งแปลกปลอม ร่างกายจะสร้างเยื่อพังผืดขึ้นมาคลุมซิลิโคนไว้ ไม่มากก็น้อยล่ะค่ะ ระยะแรกจะมองไม่เห็น แต่ถ้าปล่อยไว้นานๆ โดยไม่มีการนวด ขยับ ปล่อยให้เยื่อพังผืดหดรัดมากเข้า อาจเกิดเป็นลักษณะเห็นก้อนซิลิโคนชัด เต้านมกลม ดูไม่ธรรมชาติ เต้านมแข็งขึ้น ยิ่งเวลาผ่านไปนานเข้า โอกาสเกิดปัญหานี้ก็ยิ่งมากขึ้น ถ้าเป็นมากๆแก้ไขได้โดยการผ่าตัดเข้าไปกรีดเยื่อพังผืด หรือเลาะเอาเยื่อพังผืดออก

ปัญหาอื่นๆก็พบได้ไม่บ่อยค่ะ บางคนสงสัยว่าถ้าถุงซิลิโคนแตกทำยังไง มันแตกยากมากค่ะ (ชนิดซิลิโคนเจล) แต่ถ้าแตก เต้านมจะเปลี่ยนรูปให้ไปตรวจกับแพทย์ ตรวจได้โดยการ ตรวจร่างกาย ทำอัลตร้าซาว ทำแมมโมแกรม และการทำเอ็มอาร์ไอ ซึ่งถ้ามีการแตกจริงๆ ก็ต้องผ่าตัดแก้ไขค่ะ

คำถามที่พบมาก ... หลายคนสงสัยว่า การผ่าตัดเสริมเต้านมด้วยซิลิโคน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ ตอบว่า ไม่เพิ่มความเสี่ยงค่ะ แต่การตรวจหามะเร็งเต้านม อาจจะลำบากกว่าปรกติ (แต่ก็สามารถตรวจได้ค่ะ) โดยต้องแจ้งแพทย์ที่ตรวจ และแพทย์รังสีที่ทำแมมโมแกรม ว่าเสริมเต้านมมา เค้าจะมีวิธีการตรวจได้ค่ะ
ส่วนการเสริมเต้านมมีผลต่อการให้นมบุตรหรือไม่นั้น ตอบว่าไม่มีผลอะไรค่ะ

มีวิธีอื่นหรือไม่ที่ทำให้เต้านมใหญ่ขึ้น โดยไม่ผ่าตัด
ขนาดและรูปร่างเต้านมของผู้หญิงเปลี่ยนไปตามกาลเวลา และรอบเดือน 
โดยปรกติ ช่วงใกล้มีรอบเดือนขนาดเต้านมจะใหญ่ขึ้นได้เล็กน้อย เต้านมคัดตึง
ถ้าอ้วนขึ้น ก็จะมีเต้านมขนาดใหญ่ขึ้นได้
ส่วนวิธีอื่นๆที่เห็นโฆษณากัน เช่น
- ฟิลเล่อร์ฉีดเสริมเต้านม ยังไม่ได้รับการรับรองจาก อย. และยังไม่มีการศึกษาถึงผลในระยะยาว จึงยังไม่แนะนำค่ะ
- การกินยาคุมกำเนิด สามารถช่วยให้เต้านมขยาดได้เล็กน้อย และจะกลับมาเท่าเดิมเมื่อหยุดยา ไม่แนะนำให้กินยาคุมกำเนิดเพื่อหวังผลขยาดขนาดเต้านม
- ยากินอื่นๆที่ขายตามร้าน ที่อ้างว่าช่วยเพิ่มขนาดเต้านม ส่วนมากผสมกวาวเครือขาว ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน แต่แพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มีการนำมาใช้ ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ
- ครีมทาเพื่อเพิ่มขนาดเต้านม ส่วนตัวไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพียงพอ

สรุป
การผ่าตัดเสริมเต้านมด้วยซิลิโคนโดยศัลยแพทย์ตกแต่ง เป็นวิธีเดียวที่ได้รับการยอมรับกันในปัจจุบัน


ภาพตัวอย่างเคสก่อนเสริมเต้านม




เพิ่มคำอธิบายภาพ


หญิงอายุ 31 ปี ขนาดเต้านมคัพ A

ภาพหลังเสริมเต้านมด้วยซิลิโคนเจล 225 cc





หลังเสริมเต้านมด้วยซิลิโคนขนาด 225 cc (หลังผ่าตัด 2 สัปดาห์) ขนาดเต้านมเพิ่มจากคัพ A เป็น C

ภาพหลังผ่าตัดเสริมเต้านม 1 ปี

วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

การแก้ไขปลายจมูกใหญ่ (boxy tip - open rhinoplasty)

บางคนปลายจมูกกลมมน ใหญ่เหมือนลูกชมพู่ ทำให้ดูไม่สวยงาม สามารถแก้ไขได้ โดยการเข้าไปแก้ไขที่กระดูกอ่อนส่วนล่างของจมูกค่ะ การผ่าตัดนี้จะฉีดยาชาเฉพาะที่ และลงแผลในรูจมูกสองข้าง ตัดผ่าน collumella (ดังรูป) สาเหตุที่ต้องเปิดแผลกว้างกว่าการเสริมจมูกเพราะ เราต้องเปิดเข้าไปแก้ไขที่กระดูกอ่อนปลายจมูกเลยค่ะ
เข้าไปตัดด้านบนของกระดูกอ่อนส่วนล่างของจมูก
(ที่แรเงาสีชมพู) แล้วเย็บเข้าหากัน

ลักษณะการลงแผลผ่าน collumella











ในกรณีที่ต้องการเพิ่ม projection (ความโ่ด่ง)บริเวณปลายจมูก อาจทำได้โดย เอากระดูกอ่อนจากบริเวณใบหู หรือ septum ของจมูกเอง นำมาเสริมบริเวณปลายจมูก

ถ้าเป็นการนำกระดูกอ่อนจากใบหูมา จะทำโดยฉีดยาชารอบใบหู และลงแผลด้านหลังของใบหู และนำกระดูกส่วน concha มาบางส่วน ซึ่งจะไม่ทำให้ใบหูผิดรูปแต่อย่างใด และแผลจะถูกซ่อนไว้หลังหู

การแก้ไขปีกจมูกบาน (alar plasty)

ปัญหาปีกจมูกบานเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในคนไทย ซึ่งการแก้ไขทำได้ไม่ยาก โดยการตัดปีกจมูกทั้งสองข้างออกบางส่วน จะทำให้ปีกจมูกดูแคบลงค่ะ ทำโดยการฉีดยาชาเข้าไปตรงบริเวณที่จะตัด และตัดส่วนของปีกจมูกที่เกินออก และเย็บเข้าด้วยกัน
การตัดปีกจมูก

การเสริมจมูก (augmented rhinoplasty)

ปัญหาดั้งจมูกแบน เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในคนไทยค่ะ ซึ่งปัจจุบันสาวๆก็นิยมเสริมจมูกกันมาก จนดูกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว เราสามารถเพิ่มดั้งจมูกด้วยวิธีใดบ้าง
1. ฉีดสารฟิลเล่อร์ (ไฮยารูโรนิค แอซิด)
2. ผ่าตัดเสริมจมูกด้วยซิลิโคน
เราควรจะต้องรู้ว่าสองวิธีนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพื่อประกอบการตัดสินใจค่ะ

การฉีดสารฟิลเล่อร์  ส่วนมากทำการฉีดโดยแพทย์ผิวหนัง สารเหล่านี้สร้างขึ้นจาก hyarulonic หรือ collagen จากสัตว์ มีหลายยี่ห้อ ที่สำคัญต้องเช็คให้ดีว่าสารที่ฉีดนั้นผ่านการรับรองจาก อย. หรือไม่ สารนั้นต้องสลายได้เอง และต้องสลายได้หมด (ส่วนมากภายใน 6 เดือน - 1 ปี) ต้องไม่เหลือตกค้างนะคะ
การฉีดสารฟิลเล่อร์นั้น จะฉีดเข้าไปในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังบริเวณดั้งจมูก สารนั้นจะเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ถ้าไม่ชอบ ต้องการจะเอาออกนั้นยาก ส่วนมาก ต้องรอให้สลายไปเอง (ส่วนมาก6เดือน) แต่ถ้าสารนั้นไม่สลายไปเอง นี่น่าสยองมากค่ะ จะเป็นก้อนๆอยู่อย่างงั้น เช่นพวกซิลิโคนเหลว เป็นสารอันตราย และห้ามฉีด เพราะไม่สลายไปเอง และเอาออกยาก เพราะซิลิโคนเหลวจะปนไปกับเนื้อเยื่อของเรา เวลาขูดออกต้องเอาเนื้อเยื่อของเราออกไปด้วยบางส่วน
ข้อดีของการฉีดฟิลเล่อร์ คือไม่ต้องลงมีด แค่แทงเข็ม ไม่บวมมาก ฉีดเสร็จกลับไปทำงานได้ แต่ข้อเสียอีกอย่าง มันไหลได้ ต้องระวังมันผิดรูป และไม่ถาวร ผลแทรกซ้อนที่อันตรายจากการฉีดฟิลเลอร์ได้แก่ ผิวหนังบริเวณที่ฉีดขาดเลือด ผิวหนังตาย การติดเชื้อ และที่อันตรายที่สุดคือการที่สารฟิลเลอร์ไหลเข้ากระแสโลหิตไปอุดตันหลอดเลือดสำคัญ อาจทำให้ตาบอดได้ การฉีดฟิลเลอร์ควรได้รับการฉีดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น


การผ่าตัดเสริมจมูกด้วยซิลิโคน  ซิลิโคนสำหรับเสริมจมูกนั้นปัจจุบันก็มีหลายยี่ห้อ มีทั้งแบบเหลาเอง และแบบสำเร็จรูป ความนุ่มความแข็งแตกต่างกัน อันนี้แล้วแต่ความชอบของแพทย์ของคนไข้ค่ะ วิธีทำก็ไม่ยากค่ะ แพทย์จะฉีดยาชาบริเวณหน้าผากสองข้างและแก้มสองข้างเพื่อบล๊อคเส้นประสาท จะชาบริเวณจมูกค่ะ จากนั้นจะเหลาซิลิโคนให้เข้ากับรูปจมูกเรา แล้วค่อยกรีดแผลในรูจมูก เลาะโพรงและใส่ซิลิโคนเข้าไป
ลงแผลในรูจมูก
จมูกของคนเรานั้น ด้านบน 1/3 เป็นกระดูก ด้านล่าง 2/3 เป็นกระดูกอ่อน ซิลิโคนจะวางในชั้นเหนือกระดูกอ่อน ใต้เยื่อหุ้มกระดูก (ด้านบน1/3) จึงต้องมีการขูดบริเวณดั้งจมูกนิดนึงเพื่อเข้าในชั้นใต้เยื่อหุ้มกระดูกค่ะ
ไหมที่เย็บจะเป็นไหมละลาย ไม่ต้องตัดไหมค่ะ แพทย์จะปิดพลาสเตอร์ไว้ที่ดั้งจมูกเพื่อป้องกันซิลิโคนเลื่อนค่ะ

การดูแลหลังผ่าตัดเสริมจมูก กลับบ้านไป ให้นอนหัวสูง ประคบน้ำแข็งหรือแผ่นประคบเย็นที่หน้าผาก ห้ามโดนจมูกนะคะ เดี๋ยวเบี้ยว ห้ามแคะในรูจมูกด้วยค่ะ จนครบ 1 สัปดาห์ค่อยล้างในรูจมูก
ในช่วงเดือนแรกซิลิโคนยังเลื่อนได้ เป็นช่วงที่เบี้ยวง่ายค่ะ ห้ามนอนตะแคงเอาหน้าไปถูหมอน จมูกจะเบี้ยวได้ ถ้าเบี้ยวแล้ว มาให้แพทย์ดัดได้อยู่ค่ะ อย่ารอให้เกินเดือนเพราะจะดัดยากแล้วค่ะ
อาการบวมจะเป็นมากในช่วงสัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะยุบลงเรื่อยๆและเข้าที่เมื่อ 3 เดือนค่ะ

อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้ 

ภาวะแทรกซ้อนที่มีผลต่อสภาพร่างกาย และจำเป็นต้องไปพบแพทย์
- ปลายจมูกแดง เจ็บ มีตุ่มหนอง อันนี้อาจเกิดจากซิลิโคนยาวเกินไป ไปกดปลายจมูก ให้รีบมาพบแพทย์ อาจจะต้องผ่าตัดใหม่เพื่อตัดปลายซิลิโคนให้สั้นลง อย่ารอจนปลายจมูกทะลุนะคะ เพราะจะแก้ไขยากมาก
- ติดเชื้อ อาการจะเริ่มเกิดหลังผ่าตัดไปแล้ว 3-4 วัน จมูกบวมแดงมากขึ้น ปวด หรือมีหนองไหนจากแผล ปลายจมูกแดงเจ็บ ให้มาพบแพทย์เช่นกันค่ะ อาจต้องเอาซิลิโคนออก และกินยาปฏิชีวนะ
- แผลผ่าตัดแยก เนื่องจากซิลิโคนที่ใส่ไว้ไปดันบริเวณแผลทำให้แผลแยก ต้องมาผ่าตัดแก้ไข

ภาวะแทรกซ้อนที่มีผลต่อความสวยงาม
- จมูกเบี้ยว อันนี้อาจเกิดจากการยุบบวมสองข้างไม่เท่ากัน ส่วนมากเกิดขึ้นในช่วงเดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงที่เนื้อเยื่อยังบวมอยู่ ซิลิโคนยังไม่เข้าที่ กำลังค่อยๆยุบบวม การยุบบวมในอัตราที่ไม่เท่ากันทั้งสองข้าง  หรืออาจจะเบี้ยวจริงๆก็ได้ ซึ่งเกิดจากแพทย์ผ่าตัดเลาะโพรงสำหรับใส่ซิลิโคนไม่เท่ากัน ,เหลาซิลิโคนไม่เท่ากัน หรือใส่ซิลิโคนเบี้ยงแต่แรก ถ้าสงสัยก็มาให้แพทย์ผู้ผ่าตัดดูค่ะ
กรณีที่เสริมจมูกไปนานเกิน 3 เดือนแล้วพบว่าดั้งจมูกเบี้ยว มักต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด
ในกรณีที่เสริมจมูกไปแล้วนานๆสิบกว่าปี อาจเกิดภาวะพังผืดหดรัดซิลิโคน ทำให้ซิลิโคนเบี้ยวได้เช่นกัน
- รูจมูกไม่เท่ากัน ซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดของการผ่าตัด หรือความบวมก็เป็นได้ จึงควรรอให้ยุบบวมก่อนค่อยประเมิน
- รูปร่างจมูกไม่สวยงามตามที่ต้องการ ควรคุัยกับแพทย์ผู้ผ่าตัดค่ะ


คำถามที่พบบ่อย
- หลังเสริมจมูกแล้วถ้าไม่พอใจสามารถเอาออกได้หรือไม่ : เอาออกได้ค่ะ รูปร่างจมูกมักไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม
- หลังเสริมจมูกทำงานได้หรือไม่ : ทำงานเบาๆได้ค่ะ แต่อย่าเพิ่งออกแรงหักโหมในช่วงสัปดาห์แรก
- อยากทำปลายจมูกเป็นรูปหยดน้ำจะได้ไหม : ทำได้โดยเอากระดูกอ่อนที่หูมาเสริมตรงปลายจมูก แต่จะเหลาซิลิโคนยาวเป็นหยดน้ำนั้น ทำไม่ได้ เพราะปลายจมูกจะทะลุได้ อีกวิธีหนึ่งคือฉีดฟิลเลอร์เอาที่ปลายจมูก

ลักษณะจมูกที่สวยงาม

 จมูกถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญบนใบหน้า เพราะอยู่กึ่งกลางใบหน้า มองเห็นได้ชัดเจน จมูกที่สวยงามมีส่วนช่วยให้ใบหน้าดูดีขึ้นได้มาก ลักษณะจมูกที่สวยงามต้องมีสัดส่วนที่พอเหมาะกับใบหน้า
ปลายจมูกควรเชิดขึ้น 95 - 105 องศา




ปีกจมูกไม่ควรกว้างเกินหัวตา

สัดส่วนของใบหน้าที่สวยงาม
ลักษณะปลายจมูกที่สวยงาม

ปัญหาส่วนใหญ่ของคนไทย ก็มักจะเป็น ดั้งจมูกแบน ปีกจมูกกว้าง และปลายจมูกกลมลูก่ชมพู่
ซึ่งเป็นลักษณะของคนไทยค่ะ แต่ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ จะกล่าวเป็นข้อๆนะคะ

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดตกแต่งเปลือกตา และการดูแลหลังผ่าตัด

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะไปผ่าตัดตกแต่งเปลือกตา ไม่ว่าเปลือกตาบนหรือล่าง เราจะต้องมีการเตรียมตัวกันก่อนผ่าตัดค่ะ เริ่มจาก
1. ถ้ากินยาต้านเกร็ดเลือด เช่น aspirin, plavix อยู่ ให้หยุดยาก่อนรับการผ่าตัดอย่างน้อย 7 วัน แต่ก่อนหยุดยาควรปรึษาแพทย์ผู้จ่ายยานั้นๆก่อนนะคะว่าคุณหยุดยาได้หรือไม่
2. ถ้ากินวิตามินอี หรือวิตามินเสริมอื่นๆ ยาแผนโบราญต่างๆ ให้หยุดยาก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 7 วันเช่นกัน
3. ถ้าใส่คอนแทกเลนส์เป็นประจำควรงดใส่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด และงดใส่หลังผ่าตัดจนกว่าแผลจะหาย
4. ถ้าเพิ่งไปทำเลสิคมา ไม่ควรผ่าตัดเปลือกตาอย่างน้อย 1 เดือนหลังทำเลสิค
5. ถ้าท่านมีความดันโลหิตสูง ควรคุมความดันโลหิตให้ปรกติก่อนทำการผ่าตัด

การผ่าตัดจะทำโดยฉีดยาชาเข้าที่เปลือกตาค่ะ จะเจ็บตอนฉีดยาชา หลังจากนั้นจะไม่เจ็บ ไม่ต้องแต่งหน้าไปในวันผ่าตัดนะคะ เพราะต้องล้างหน้าออกหมดจนสะอาดค่ะ ไม่จำเป็นไม่ต้องสวมแหวนหรือโลหะติดตัวค่ะ เพราะต้องถอดออกหมดขณะผ่าตัดค่ะ การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงค่ะ ควรมีคนพากลับบ้านนะคะ พาญาติมาด้วยค่ะ

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัด : หลังผ่าตัดจะบวมมากในช่วง 3-4 วันแรกค่ะ จากนั้นจะค่อยๆยุบบวมลง ให้นอนหัวสูง หมอน 4 ใบเลยค่ะ ประคบน้ำแข็งหรือแผ่นประคบเย็นที่หน้าผาก ระวังอย่าโดนแผลนะคะ อาการบวมจะยุบเมื่อ 1 สัปดาห์ค่ะ แต่จะเข้าที่เข้าทางเมื่อ 3 เดือนค่ะ ระหว่างนี้ชั้นตาจะดูใหญ่กว่าความเป็นจริง และชั้นตาอาจจะดูไม่เท่ากันในช่วงแรก ยังไม่ต้องตกใจ ให้รอ 3 เดือนก่อนค่ะ ยาที่แพทย์ให้ จะมียาปฏิชีวนะ (แพ้ยาอะไรแจ้งแพทย์ด้วยนะคะ) ยาลดบวม ยาแก้ปวด ให้กินยาจนยาหมดก็พอค่ะ ยาแก้ปวดกินเฉพาะตอนปวดก็ได้ค่ะ
ซัก 2 วันก็โดนน้ำได้ ล้างหน้าได้ค่ะ แต่ต้องระมัดระวังอย่ากระทบกระเทือนแผลแรงนะคะ
หนึ่งสัปดาห์แพทย์จะนัดมาตัดไหมค่ะ หลังจากนั้นจะเห็นรอยกรีดเป็นรอยแดงๆอยู่ รอยแดงนี้จะค่อยๆจางไปใน 6 เดือนค่ะ

ปัญหาแทรกซ้อนที่อาจเกิดหลังผ่าตัดตกแต่งหนังตา (complication of blepharoplsty)

ใครที่คิดจะไปผ่าตัดตกแต่งหนังตา ทั้งหนังตาบนและหนังตาล่าง ควรจะศึกษาถึงผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ และอาการที่ควรระวัง ก่อนรับการผ่าตัดค่ะ

ผลแทรกซ้อนเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่อันตรายรุนแรง
ได้แก่ retrobulba hematoma แปลเป็นภาษาง่ายๆได้ว่า การมีเลือดออกด้านหลังลูกตา อาจเกิดจากการห้ามเลือดไม่ดีขณะตัดไขมันในเบ้าตา หรือเกิดจากผู้ป่วยเองมีปัญหาเลือดหยุดยาก ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยจะมีอาการหลังผ่าตัดเสร็จไม่นาน จะมีอาการปวดตา ตามัวลง บวมตึงมาก ให้รีบแจ้งแพทย์ที่ทำการผ่าตัดแก้ไขทันทีค่ะ

ผลแทรกพบในกาซ้อนที่พบในการผ่าตัดหนังตาบน ได้แก่

หลับตาไม่สนิท มักเป็นในช่วงสัปดาห์แรกๆของการผ่าตัด ซึ่งอาจเกิดจากการบวม ให้ป้ายตาด้วยขี้ผึ้งป้ายตา เพื่อลดการระคายเคืองต่อกระจกตา แต่ถ้าเวลาผ่านไปนานเป็นเดือนแล้ว อาการบวมยุบหายหมด แต่ยังคงหลับตาไม่สนิท นี่อาจเกิดจากการตัดหนังตาออกมากไป หรือเย็บชั้นลึกไป ต้องกลับไปปรึกษาแพทย์ที่ทำการผ่าตัดให้ค่ะ

หนังตาตก อาจดีขึ้นได้เองไม่นานหลังผ่าตัด ซึ่งเกิดจากฤทธิ์ของยาชา หรืออาการบวมหลังผ่าตัด
ในกรณีที่ไม่ดีขึ้น อาจเกิดจากแพทย์ไปตัดโดนกล้ามเนื้อที่ช่วยในการลืมตา (levator muscle) ซึ่งต้องแก้ไขโดยการผ่าตัดซ้ำ

แผลเป็นนูน จะเป็นได้บ่อยมากขึ้นในคนที่ผิวเกิดแผลเป็นนูนง่าย แต่แผลเป็นมักไม่เป็นที่สังเกต เพราะเมื่อลืมตา ชั้นตาจะบังแผลเป็นไว้

ผิวหนังนูนที่เป็นผลจากไหมที่ใช้เย็บ (suture granuloma) ทั้งแผลเป็นนูนและsuture granuloma สามารถดีขึ้นได้เองเมื่อระยะเวลาผ่านไป หรือถ้าไม่ดีขึ้นก็ผ่าตัดแก้ไขได้

ผลแทรกซ้อนของการผ่าตัดหนังตาล่าง

ectropion หรือหนังตาล่างปลิ้นออก ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ สาเหตุหลักๆคือบวม ยุบบวมก็มักจะดีขึ้น หรืออาจจะเกิดจากตัวผู้ป่วยเองหนังตาล่างหย่อนยานมาก เหมือนไม่มีอิลาสติกดึงกลับนั่นแหล่ะค่ะ กรณีนี้อาจรอจนอาการบวมยุบสนิทแล้วดูอีกทีว่าอาการหนังตาปลิ้นดีขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ดีขึ้นต้องปรึกษาแพทย์ค่ะ อาจต้องแก้ไขโดยการเย็บขึงบริเวณ lateral canthal tendon หรือที่เรียกว่าทำ lateral canthopexy
หรืออาจเกิดจากแผลเป็นหดรั้งค่ะ กรณีนี้คลำดูจะรู้สึกว่าตรงรอยแผลที่กรีดมันแน่นๆแข็งๆ ใช้การนวดเอาค่ะ นวดเรื่อยๆ เดี๋ยวแผลเป็นจะค่อยนุ่มขึ้นเรื่อยๆค่ะ อาจต้องใช้เวลานานหน่อย ซัก 3-6 เดือน ต้องใจเย็นๆค่ะ สุดท้ายเกิดจากแพทย์ตัดหนังตาออกมาเกินไป อันนี้ต้องกลับไปให้แพทย์แก้ไขค่ะ ถ้าจำเป็นอาจต้องมีการเอาหนังจากที่อื่นมาแปะเพิ่ม

ผลแทรกซ้อนที่เกิดได้ทั้งจากการผ่าตัดหนังตาล่างและหนังตาบน

อาการระคายเคืองตา และน้ำตาไหล มักจะเป็นช่วงแรกๆหลังการผ่าตัด อาจเกิดจากอาการบวม ทำให้หลับตาได้ไม่สนิท หรืออาจเกิดจากไหมที่เย็บไประคายเคืองโดนเยื่อบุตา ถ้าเป็นกรณีหลังอาจต้องเอาไหมออก





ผลที่ได้ไม่เป็นที่พึงพอใจ
- ชั้นตาใหญ่ หรือเล็กไป
- ชั้นตาไม่เท่ากัน
- ชั้นตาหลุด กลับเป็นชั้นเดียว
- ชั้นตากลายเป็นหลายชั้น
- ดวงตาลึกโบ๋ จากการเอาไขมันออกมากไป

ถุงใต้ตา และหนังตาล่างหย่อนยาน (lower blepharoplsty)

ปัญหาถุงใต้ตาพบได้บ่อยค่ะ ในคนอายุน้อยบางคนก็มีถุงใต้ตาได้ เช่น บางคนเกิดจากกล้ามเนื้อซึ่งจะเห็นเป็นลำใต้ดวงตาเวลายิ้ม ส่วนบางคนเป็นภูมิแพ้ ก็จะมีถุงใต้ตาได้ ส่วนเมื่อคนเราอายุมากขึ้น ปัญหาถุงใต้ตาก็จะพบได้มากขึ้นค่ะ  เกิดได้จากสามสาเหตุ 1. หนังตาหย่อนยาน 2. ถุงไขมันในเบ้าตาหย่อนออกมาให้เห็น 3.กล้ามเนื้อใต้ตาหดเกร็งเป็นลำเวลายิ้ม

ไขมันในเบ้าตายื่นออกมากลายเป็นถุงใต้ตา


วิธีแก้ไขทำได้โดยผ่าตัดเอาถุงใต้ตาออกค่ะ โดยจะลงแผลตามแนวขนตาล่าง เข้าไปเอาไขมันส่วนเกินออก ตัดหนังตาส่วนเกินออก และเย็บให้ผิวหนังใต้ตาตึงขึ้นค่ะ












แต่การเอาไขมันออก ต้องระวังไม่เอาออกมากจนเกินไปเพราะจะทำให้ดูตาลึก โบ๋ ได้ และการตัดหนังบริเวณใต้ตา ต้องตัดออกอย่างระมัดระวัง ไม่เอาออกมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ตาล่างปลิ้น (ectropion) ได้


คิ้วตก และการผ่าตัดยกคิ้ว (brow lift)

      ตำแหน่งของคิ้วสำคัญมากนะคะ คิ้วที่สวยงามควรอยู่ที่ขอบกระดูกเบ้าตาบน (supraorbital rim) และควรห่างจากเปลือกตาบน 2.5 ซม.เป็นอย่างน้อย (หรือสูงเป็นสามเท่าของชั้นตา) ควรโก่งขึ้น และหางคิ้วควรอยู่สูงกว่าหัวคิ้วเล็กน้อย ในคนอายุมาก มักจะมีปัญหาคิ้วตก สังเกตจาก หางคิ้วอยู่ต่ำกว่าหัวคิ้ว ต้องยักคิ้วเป็นประจำ มีรอยย่นตามแนวขวางที่หน้าผากซึ่งเกิดจากการยักคิ้วจนเป็นนิสัย แก้ไขโดยการผ่าตัดดึงหน้าผาก ยกคิ้วขึ้น ค่ะ
คิ้วตก




การผ่าตัดยกคิ้วสามารถลงแผลได้หลายแบบ ได้แก่
1. direct brow lift คือการลงแผลเหนือคิ้ว ตัดหนังส่วนเกินเหนือคิ้ว กรณีแบบนี้จะสามารถยกคิ้วได้มาก เห็นผลชัดเจน แต่มีข้อเสียคือจะเห็นรอยกรีดบริเวณเหนือคิ้วค่ะ ใช้ในกรณีคนอายุมากๆคิ้วตกมากๆ และไม่ค่อยกังวลเรื่องรอยแผลเหนือคิ้ว
2. coronal brow lift คือการลงแผลที่หนังศีรษะยาวเหมือนที่คาดผมเลยค่ะ กรณีนี้ทำกันมากสมัยก่อน (เดี๋ยวจะมีรูปให้ดูค่ะ) แต่ระวังในคนที่หน้าผากเถิกนะคะ ไม่ควรทำค่ะ เพราะทำแล้วหน้าผากจะยิ่งเถิกกันไปใหญ่ ควรทำในคนที่หน้าผากแคบๆมากกว่าค่ะ (forehead height < 6 cm) ข้อเสียของการผ่าตัดวิธีนี้คืออาจทำให้ผมไม่ขึ้นบริเวณที่ลงมีดค่ะ แต่ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแพทย์ด้วยค่ะ เพราะแพทย์ที่มีประสบการณ์จะลงมีดเฉียงๆ และลงซิกแซก ทำให้ผมขึ้นได้ตามปรกติค่ะ
3. frontal hairline incision ลงแผลตามแนวไรผมค่ะ กรณีนี้ทำแล้วหน้าผากจะแคบลงค่ะ ควรทำในคนที่หน้าผากเถิกๆค่ะ แต่คนที่หน้าผากแคบอยู่แล้วไม่ควรทำค่ะ (forehead heigth > 6 cm.)
4. temporal incision ใช้ในกรณีหน้าผากไม่แคบไม่เถิกจนเกินไป
5. transblepharoplasty brow lift คือการลงแผลเดียวกับการผ่าตัดหนังตาบนเลยค่ะ แต่จะเลาะไปถึงตำแหน่งของคิ้ว แล้วเย็บกับเยื่อหุ้มกระดูกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ใช้กับคนที่คิ้วตกไม่มาก เพราะถ้าทำในคนคิ้วตกมากจะเกิดรอยย่นตามแนวขวางที่หน้าผาก และในกรณีคนที่คิ้วขมวดอยู่ตลอดเวลา โบท๊อกก็เอาไม่อยู่ การผ่าตัดนี้ก็สามารถเข้าไปตัดกล้ามเนื้อที่ทำให้ขมวดคิ้ว (corrugator, procerous) ออก เพื่อแก้ไขปัญหาหน้านิ่วคิ้วขมวดได้
5. endoscopic brow lift คือการใช้กล้อง endoscope เจาะรูเล็กๆเข้าไปยกคิ้วค่ะ วิธีนี้กำลังเป็นที่นิยม แต่ก็ทำได้แค่บางสถาบันเท่านั้นค่ะ
frontal hairline incision
temporal hairline incision

coronal brow lift


transblepharoplasty brow lift with glabella muscle resection
ผลข้างเคียงของการผ่าตัดที่อาจเกิดขึ้นได้
- เส้นประสาทที่ช่วยในการยักคิ้วถูกตัดขาด (temporal branch of facial nerve) กรณีที่แพทย์ขาดความชำนาญ จะทำให้ยักคิ้วไม่ได้
- ชาบริเวณหน้าผาก ถ้าเกิดจากเส้นปรกสาทถูกดึงมาก จะดีขึ้นได้เองใช้เวลาประมาณ 6 เดือน แต่ถ้าเกิดจากเส้นประสาทถูกตัดขาด อันนี้ก็ชาถาวรค่ะ (ขึ้นกับความชำนาญของแพทย์)
- เส้นผมที่หนังศีรษะไม่ขึ้น กรณะลงแผลที่หนังศีรษะ
- หลับตาไม่สนิท อาจเกิดจากบวม หรือ เกิดจากตัดหนังออกมากเกินไป

ตาสวย2 (ต่อ)... การแก้ไขหนังตาบนหย่อนยาน (upper blepharoplsty)

ส่วนในคนที่อายุมากขึ้น หนังตาหย่อนยานลงมาปิดตา ทำให้ดูไม่สวยงาม ชั้นตาหายกลายเป็นตาสองชั้นหลบใน ยิ่งกว่านั้นถ้าเป็นมากๆ อาจรบกวนการมองเห็นได้ ซึ่งเราต้องแยกก่อนว่าเกิดจากคิ้วตกร่วมด้วยหรือไม่ (ระยะห่างจากคิ้วถึงดวงตาน้อยกว่า2.5ซม. หรือเวลามองตรงต้องยักคิ้วขึ้น ทำให้เกิดริ้วรอยตามขวางที่หน้าผาก) ถ้ามีคิ้วตกร่วมด้วย ควรแก้ปัญหาโดยการผ่าตัดยกคิ้วขึ้นก่อนที่จะผ่าตัดหนังตาค่ะ เพราะการยกคิ้วขึ้นนั้น ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งแล้ว ถ้าหลังจากยกคิ้วขึ้น ยังมีปัญหาหนังตาหย่อนยานอยู่ เราค่อยมาผ่าตัดหนังตาทีหลัง แต่ถ้าเราผ่าตัดหนังตาก่อนโดยการตัดหนังตาออก อาจจะตัดออกมากจนเกินไป จนดึงคิ้วลงมาใกล้ดวงตายิ่งขึ้น ยิ่งดูหน้าดุไปกันใหญ่ค่ะ พอครั้งจะมาผ่าตัดยกคิ้ว ทีนี้ทำไม่ได้แล้ว เพราะตาจะหลับไม่สนิท (ก็เราตัดหนังตาออกไปเยอะแล้วหนิคะ) ส่วนเรื่องการผ่าตัดยกคิ้วทำยังไงนั้น จะโพสให้อ่านในลำดับต่อไปนะคะ
คิ้วตก


ทีนี้เราจะมาดูในกรณีหนังตาหย่อนยานอย่างเดียวที่ไม่มีคิ้วตกร่วมด้วยก่อน กรณีนี้แก้ไขได้โดยการตัดหนังตาส่วนเกินออกค่ะ และถ้าบางรายมีไขมันมาก ก็สามารถจะเอาไขมันออกด้วยได้ค่ะ จะเห็นได้ว่าต้องกรีดแผลยาวหน่อยนะคะ จึงจะเอาหนังตาส่วนเกินออกได้ แผลอาจจะยาวไปถึงหางตาค่ะ (ต่างกับทำตาสองชั้นเฉยๆซึ่งแผลจะสั้น)



ตัดหนังตาบนส่วนเกินออก


ตาสวย ...การทำตาสองชั้น (double eyelid surgery)

ดวงตาที่สวยงามของคนเอเซีย จะมีหางตาเชิดขึ้นเล็กน้อย ชั้นตากว้างประมาณ7-9มม.                   
 ชั้นตาด้านนอกจะใหญ่กว่าชั้นตาด้านในเล็กน้อย
คิ้วก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากที่จะทำให้ดวงตาดูสวยงาม โดยคิ้วควรจะอยู่สูงกว่าชั้นตาประมาณ 3 เท่าขึ้นไป โดยคิ้วควรโก่งขึ้นและหางคิ้วอยู่สูงกว่าหัวคิ้วเล็กน้อย ในคนอายุมากขึ้น คิ้วจะตกลงมา ทำให้หางคิ้วอยู่ต่ำกว่าหัวคิ้ว และคิ้วอยู่ชิดกับดวงตา ทำให้ดูอ่อนล้า ไม่สดใส
เราลองมาพิจารณาดูนะคะว่าหน้าคุณมีปัญหาที่ตรงไหน ตาชั้นเดียว, คิ้วตก, หรือหนังตาหย่อนยาน ควรแก้ปัญหาให้ถูกจุดค่ะ

ในคนหนุ่มสาว อายุยังน้อย มักไม่ค่อยมีปัญหาคิ้วตกหรือหนังตาหย่อนยาน แต่มักมีปัญหาตาชั้นเดียว ซึ่งแก้ไขไม่ยากค่ะ ทำได้โดยการผ่าตัด ทำตาสองชั้น ซึ่งอาจทำโดยวิธีเย็บสามจุด หรือกรีดแล้วเย็บ ซึ่งแผลจะสั้นๆเล็กๆค่ะ

สัดส่วนบนใบหน้าที่สวยงาม (facial propotion)


จะเห็นได้ว่าการที่คนเราจะดูเป็น "คนหน้าตาดี" ได้นั้น สัดส่วนบนใบหน้าเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ บางคนตาสวย จมูกสวย ปากสวย แต่ประกอบกันไม่ได้สัดส่วน กลับสวยสู้คนที่องค์ประกอบย่อยไม่ค่อยสวย แต่สัดส่วนพอเหมาะ ไม่ได้
และในภาพข้างบน ก็คือสัดส่วนที่พอเหมาะ ที่จะทำให้ใบหน้าดูสวย น่ามอง ค่ะ

วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

แนะนำบล๊อค

สวัสดีค่ะ ก่อนอื่นขอแนะนำความเป็นมาของการเกิดบล๊อคนี้ขึ้นก่อนนะคะ
เริ่มจาก ตัวผู้เขียน ขอแนะนำตัวเองก่อน ชื่อโอ๋นะคะ เป็นแพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง(หรือ plastic surgeon นั่นเองค่ะ)
หลายคนอาจคิดว่า แพทย์ศัลกรรมตกแต่ง ทำงานแค่ผ่าตัดเสริมสวยอย่างเดียว แต่ความเป็นจริงแล้ว เรายังผ่าตัดรักษาโรค ความพิการต่างๆ  ผ่าตัดแก้ไขในผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุ ผู้ป่วยที่โดนไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือแม้กระทั่งการบาดเจ็บที่มือ เรียกกันว่า ผ่าตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าเลยทีเดียว
ส่วนการผ่าตัดเสริมสวยนั้นก็มีในหลักสูตรเช่นกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดตกแต่งเปลือกตา จมูก เต้านม ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน
วัตถุประสงค์ของบล๊อคนี้ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่ได้มีโอกาสแวะเข้ามาเยี่ยมชมบล๊อค ได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่ง และสามารถซักถามหรือปรึกษาได้อย่างอิสระ

ปล. บล๊อคนี้ไม่ได้เป็นการโปรโมทคลินิคแต่อย่างใด (เพราะผู้เขียนไม่มีคลินิคค่ะ) เพียงต้องการทำตัวให้มีประโยชน์ต่อสังคมบ้าง เล็กๆน้อยๆเท่านั้นค่ะ

แล้วจะมาอัพเดทความรู้เรื่องศัลยกรรมตกแต่งให้ได้อ่านกันนะคะ