วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

การผ่าตัดเสริมเต้านม (มีภาพตัวอย่างเคสก่อนและหลังผ่าตัด)

ปัญหาเต้านมเล็ก ไม่ได้รูปร่างที่สวยงาม ทำให้ผู้หญิงขาดความมั่นใจ ปัจจุบันจึงมีคนสนใจการทำศัลยกรรมตกแต่งเสริมเต้านมกันมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเสริมเต้านมได้
ใครบ้างที่ไม่ควรผ่าตัดเสริมเต้านม ...
- ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมอยู่ หรือมีก้อนเนื้อน่าสงสัย
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และ
- ผู้ที่กำลังมีการอักเสบติดเชื้อบริเวรเต้านม
ควรรอให้ภาวะเหล่านั้นหายดีเสียก่อน
ในผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปี ควรตรวจ mammogram เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมก่อนผ่าตัดเสริมเต้านม
ถ้าท่านมาปรึกษาแพทย์ แพทย์จะตรวจคลำเต้านมเพื่อหาก้อนเนื้อ คลำรักแร้เพื่อหาต่อมน้ำเหลืองผิดปรกติก่อน ถ้าไม่มี ก็เสริมเต้านมได้ค่ะ

การเลือกซิลิโคน
ซิลิโคนแบ่งเป็นสองแบบใหญ่ๆ ได้แก่ แบบ ซิลิโคนเจล และแบบ ถุงน้ำเกลือ ปัจจุบัน แบบซิลิโคนเจลเป็นที่นิยมมากกว่า เพื่อให้สัมผัสที่เป็นธรรมชาติ คล้ายเต้านมจริงมากกว่า และไม่ค่อยมีปัญหารั่วซึมหรือยุบตัว ส่วนขนาดที่เหมาะสมนั้น แล้วแต่ความพอใจของเจ้าตัวค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องเหมาะสมกับขนาดตัว ขนาดความกว้างช่วงอก และบริมาณเนื้อเดิมที่จะรอบรับถุงซิลิโคนด้วยค่ะ ที่นิยมใส่กันมักจะอยู่ที่ประมาณ 225 cc. - 300 cc. (แนะนำให้ลองเอาซิลิโคนยัดใส่ในเสื้อยกทรง แล้วส่องกระจก ดูว่าต้องการขนาดไหน)
ถุงซิลิโคนเจลนั้น มีแบบ ผิวเรียบ กับผิวขรุขระ เชื่อกันว่า แบบผิวขรุขระจะช่วยลดปัญหาเนื้อเยื่อพังผืดหดรัดได้ดีกว่า ทำให้ดูเป็นธรรมชาติกว่าในระยะยาว
ส่วนเรื่องรูปทรงของซิลิโคนนั้น มีแบบทรงกลม กับแบบทรงหยดน้ำ ส่วนมากจะใช้ทรงกลมค่ะ ส่วนทรงหยดน้ำใช้ในกรณีต้องการปรับรูปร่างของเต้านม (ทรงหยดน้ำนั้น ถ้าเกิดเบี้ยวจะน่าเกลียดไปเลยล่ะ)

ตำแหน่งการลงแผล
สามารถลงได้ 4 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางรักแร้, ทางฐานเต้านม, ขอบปานนม, และทางสะดือ (โดยใช้การส่องกล้องผ่าตัด) การลงแผลแต่ละตำแหน่ง นอกจากจะขึ้นกับความชำนาญของแพทย์ผ่าตัดท่านนั้นๆ ยังมีข้อดีข้อเสียเล็กๆน้อยๆที่แตกต่างกัน เช่น
การลงแผลที่รักแร้ จะไม่เห็นแผลที่เต้านม (แต่ก็จะมีแผลที่รักแร้แทน) ,
การลงแผลที่ฐานเต้านม จะมีแผลสั้นๆที่ฐานเต้านม (ยาวประมาณ 4 ซม.) แต่มีข้อดีคือ ขณะผ่าตัดสามารถห้ามเลือดได้ดีกว่า (เชื่อว่าการห้ามเลือดที่ดีช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเยื่อพังผืดหดรัดซิลิโคน) จัดวางซิลิโคนง่ายกว่า ทำให้ได้รูปร่างเต้านมที่สวยงามได้ง่ายกว่า ,  
การลงแผลที่ขอบล่างของปานนม จะมองไม่ค่อยเห็นแผล สามารถจัดตำแหน่งซิลิโคนได้ดี ช่วยแก้ไขกรณีเต้านมหย่อนยานเล็กน้อยได้ด้วย และในคนที่รูปร่างเต้านมผิดปรกติแต่กำเนิดบางชนิดก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการลงแผลที่ตำแหน่งนี้ แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน ได้แก่ การลงแผลตำแหน่งนี้อาจทำให้หัวนมชาได้ และเนื่องจากต้องตัดผ่านท่อน้ำนม อาจทำให้มีการติดเชื้อ Staph. epidimidis ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณท่อน้ำนม และการลงแผลบริเวณนี้ใช้ได้เฉพาะในคนที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของปานนม มากกว่า 4 ซม.
การลงแผลที่สะดือ แล้วใช้การผ่าตัดส่องกล้องช่วย ต้องใช้การใส่ถุงน้ำเกลือเท่านั้น (ใส่ถุงน้ำเกลือแฟบๆเข้าไปก่อน แล้วค่อยเติมน้ำเกลือ)

ซิลิโคนจะวางตัวในชั้นไหน ... สามารถวางซิลิโคนได้ทั้งในชั้นใต้เนื้อเยื่อเต้านม และในชั้นใต้กล้ามเนื้อหน้าอก แพทย์จะเป็นผู้พิจารณา โดยพิจารณาจากความหนาของเนื้อที่หน้าอกของคุณ หน้าเนื้อหน้าอกหนาพอ จะสามารถใส่ซิลิโคนในชั้นใต้เนื้อเยื่อเต้านมได้ แต่ถ้าเนื้อหน้าอกน้อย(เช่นผู้ชาย) จะต้องใส่ซิลิโคนในชั้นใต้กล้ามเนื้อหน้าอก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ซิลิโคนจะไม่รบกวนการให้นมบุตรแต่อย่างใด

การผ่าตัดเสริมเต้านม จะต้องดมยาสลบ โดยใส่ท่อช่วยหายใจทางปาก (โดยวิสัญญีแพทย์) จึงต้องมีการตรวจเลือด เอ็กซเรย์ปอด เพื่อความปลอดภัยในการดมยาสลบ ใครมีโรคประจำตัวอะไร แพ้ยาอะไรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ รวมถึงยาและวิตามินที่กินประจำด้วยนะคะ ยาบางชนิดเช่น aspirin vitamin E อาจทำให้เลือดหยุดยาก ต้องหยุดยาก่อนรับการผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์

การดูแลหลังผ่าตัด โดยทั่วไปจะสามารถกลับบ้านได้ 1-2 วันหลังผ่าตัด ให้กินยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั้ง แพทย์จะพันผ้ารัดเต้านมไว้ให้ในระยะแรก หลังจากเอาผ้าพันออกแล้ว สามารถใส่ยกทรงแบบไม่มีโครงได้
โดยทั่วไปจะสามารถนวดเต้านมด้วยตนเองได้หลัง 1 สัปดาห์ไปแล้ว (เริ่มหายเจ็บ) ให้นวดเต้านมเลื่อนซิลิโคนไปในทิศต่างๆ เพื่อป้องกันการเกิดเยื่อพังผืดหดรัดรอบซิลิโคน (โดยเฉพาะผู้ที่ใส่ซิลิโคนแบบผิวเรียบ) การนวดเต้านมควรทำทุกวันนะคะ
หลังผ่าตัดบางคนอาจชาๆบริเวณเต้านมและหัวนม แต่ส่วนมากความรู้สึกจะกลับมาเป็นปรกติหลังจาก 3-6 เดือนค่ะ

ปัญหาที่อาจเกิดตามมา เนื่องจากซิลิโคนเป็นสิ่งแปลกปลอม ร่างกายจะสร้างเยื่อพังผืดขึ้นมาคลุมซิลิโคนไว้ ไม่มากก็น้อยล่ะค่ะ ระยะแรกจะมองไม่เห็น แต่ถ้าปล่อยไว้นานๆ โดยไม่มีการนวด ขยับ ปล่อยให้เยื่อพังผืดหดรัดมากเข้า อาจเกิดเป็นลักษณะเห็นก้อนซิลิโคนชัด เต้านมกลม ดูไม่ธรรมชาติ เต้านมแข็งขึ้น ยิ่งเวลาผ่านไปนานเข้า โอกาสเกิดปัญหานี้ก็ยิ่งมากขึ้น ถ้าเป็นมากๆแก้ไขได้โดยการผ่าตัดเข้าไปกรีดเยื่อพังผืด หรือเลาะเอาเยื่อพังผืดออก

ปัญหาอื่นๆก็พบได้ไม่บ่อยค่ะ บางคนสงสัยว่าถ้าถุงซิลิโคนแตกทำยังไง มันแตกยากมากค่ะ (ชนิดซิลิโคนเจล) แต่ถ้าแตก เต้านมจะเปลี่ยนรูปให้ไปตรวจกับแพทย์ ตรวจได้โดยการ ตรวจร่างกาย ทำอัลตร้าซาว ทำแมมโมแกรม และการทำเอ็มอาร์ไอ ซึ่งถ้ามีการแตกจริงๆ ก็ต้องผ่าตัดแก้ไขค่ะ

คำถามที่พบมาก ... หลายคนสงสัยว่า การผ่าตัดเสริมเต้านมด้วยซิลิโคน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ ตอบว่า ไม่เพิ่มความเสี่ยงค่ะ แต่การตรวจหามะเร็งเต้านม อาจจะลำบากกว่าปรกติ (แต่ก็สามารถตรวจได้ค่ะ) โดยต้องแจ้งแพทย์ที่ตรวจ และแพทย์รังสีที่ทำแมมโมแกรม ว่าเสริมเต้านมมา เค้าจะมีวิธีการตรวจได้ค่ะ
ส่วนการเสริมเต้านมมีผลต่อการให้นมบุตรหรือไม่นั้น ตอบว่าไม่มีผลอะไรค่ะ

มีวิธีอื่นหรือไม่ที่ทำให้เต้านมใหญ่ขึ้น โดยไม่ผ่าตัด
ขนาดและรูปร่างเต้านมของผู้หญิงเปลี่ยนไปตามกาลเวลา และรอบเดือน 
โดยปรกติ ช่วงใกล้มีรอบเดือนขนาดเต้านมจะใหญ่ขึ้นได้เล็กน้อย เต้านมคัดตึง
ถ้าอ้วนขึ้น ก็จะมีเต้านมขนาดใหญ่ขึ้นได้
ส่วนวิธีอื่นๆที่เห็นโฆษณากัน เช่น
- ฟิลเล่อร์ฉีดเสริมเต้านม ยังไม่ได้รับการรับรองจาก อย. และยังไม่มีการศึกษาถึงผลในระยะยาว จึงยังไม่แนะนำค่ะ
- การกินยาคุมกำเนิด สามารถช่วยให้เต้านมขยาดได้เล็กน้อย และจะกลับมาเท่าเดิมเมื่อหยุดยา ไม่แนะนำให้กินยาคุมกำเนิดเพื่อหวังผลขยาดขนาดเต้านม
- ยากินอื่นๆที่ขายตามร้าน ที่อ้างว่าช่วยเพิ่มขนาดเต้านม ส่วนมากผสมกวาวเครือขาว ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน แต่แพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มีการนำมาใช้ ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ
- ครีมทาเพื่อเพิ่มขนาดเต้านม ส่วนตัวไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพียงพอ

สรุป
การผ่าตัดเสริมเต้านมด้วยซิลิโคนโดยศัลยแพทย์ตกแต่ง เป็นวิธีเดียวที่ได้รับการยอมรับกันในปัจจุบัน


ภาพตัวอย่างเคสก่อนเสริมเต้านม




เพิ่มคำอธิบายภาพ


หญิงอายุ 31 ปี ขนาดเต้านมคัพ A

ภาพหลังเสริมเต้านมด้วยซิลิโคนเจล 225 cc





หลังเสริมเต้านมด้วยซิลิโคนขนาด 225 cc (หลังผ่าตัด 2 สัปดาห์) ขนาดเต้านมเพิ่มจากคัพ A เป็น C

ภาพหลังผ่าตัดเสริมเต้านม 1 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น